Select Page

การกำกับดูแลกิจการที่ดี

นักลงทุนสัมพันธ์

การกำกับดูแลกิจการที่ดี
หมวดที่ 1 สิทธิของผู้ถือหุ้น

คณะกรรมการบริษัทตระหนักถึงสิทธิของผู้ถือหุ้น จึงส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นได้ใช้สิทธิของตนตามสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถือหุ้น โดยให้ผู้ถือหุ้นได้รับข่าวสารข้อมูลอย่างเพียงพอและเหมาะสม รวมทั้ง สนับสนุนให้ใช้สิทธิในการเข้าร่วมประชุมและออกเสียงในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น และไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการละเมิดหรือริดรอนสิทธิของผู้ถือหุ้น

ทั้งนี้ คณะกรรมการจึงได้กำหนดนโยบายการอํานวยความสะดวกและส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นทุกราย ทั้งที่เป็นนักลงทุนชาวไทย นักลงทุนต่างประเทศ นักลงทุนรายย่อย และนักลงทุนสถาบัน ได้มีส่วนร่วมในการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น รายละเอียดดังนี้

นโยบายการอํานวยความสะดวกและส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นได้มีส่วนร่วมในการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น

  1. กําหนดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเป็นประจําทุกปี ภายในระยะเวลา 4 เดือน นับแต่วันสิ้นรอบปีบัญชีของบริษัท และหากมีความจําเป็นเร่งด่วนที่จะต้องพิจารณาวาระพิเศษที่อาจเป็นเรื่องที่กระทบหรือเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นซึ่งจําเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้น คณะกรรมการบริษัทสามารถเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นได้เป็นกรณีไป
  2. จัดทำและจัดส่งหนังสือเชิญประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจําปีให้กับผู้ถือหุ้นทุกประเภท รวมถึงผู้ถือหุ้นสถาบัน พร้อมทั้งรายละเอียดระเบียบวาระการประชุม ข้อมูลสําคัญและจําเป็น เพื่อประกอบการพิจารณาของผู้ถือหุ้น พร้อมความเห็นของคณะกรรมการ รายงานการประชุมครั้งที่ผ่านมา รายงานประจําปี หนังสือมอบฉันทะทุกแบบ ประกอบด้วย แบบ ก., แบบ ข. และแบบ ค. ตามที่กระทรวงพาณิชย์กําหนด และระบุวิธีการมอบฉันทะให้ชัดเจน พร้อมทั้งระบุสถานที่ วัน เวลา และแผนที่แสดงสถานที่ประชุม ซึ่งในหนังสือเชิญประชุมจะแจ้งรายละเอียดของเอกสารที่ผู้ถือหุ้นจะต้องนำมาแสดงในวันประชุมเพื่อรักษาสิทธิในการเข้าประชุม โดยจัดส่งหนังสือเชิญประชุมให้ผู้ถือหุ้น ทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ล่วงหน้าอย่างน้อย 21 วันก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้น พร้อมทั้ง ประกาศลงในหนังสือพิมพ์ฉบับภาษาไทยเป็นเวลา 3 วัน ติดต่อกันก่อนวันประชุมอย่างน้อย 3 วัน นอกจากนี้ บริษัทกำหนดให้เผยแพร่หนังสือเชิญประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีฉบับสมบูรณ์ พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการประชุมบนเว็บไซต์ โดยที่ฉบับภาษาไทย เผยแพร่ล่วงหน้าก่อนวันประชุมเป็นเวลา ไม่น้อยกว่า 30 วัน และฉบับภาษาอังกฤษ เผยแพร่ล่วงหน้าก่อนวันประชุมเป็นเวลา ไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้รับข้อมูลข่าวสารเพื่อการตัดสินใจในการลงมติอย่างเพียงพอถูกต้อง ครบถ้วน โปร่งใส และเพื่อเป็นการบอกกล่าวการเรียกประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นเป็นการล่วงหน้าสําหรับให้ผู้ถือหุ้นเตรียมตัวมาเข้าร่วมประชุมก่อนได้รับเอกสารการประชุมด้วย ทั้งนี้ บริษัทกำหนดให้มีการแจ้งผ่านระบบข่าวของตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าบริษัทได้เผยแพร่หนังสือเชิญประชุมและเอกสารประกอบการประชุมบนเว็บไซต์ของบริษัทด้วย
  3. ในกรณีที่มีการเพิ่มวาระการประชุมจะมีการแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบในกรณีจําเป็นรีบด่วนเพื่อรักษาสิทธิหรือประโยชน์ของบริษัท และจะส่งหนังสือนัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนวันประชุม รวมทั้ง จะเผยแพร่ข้อมูลประกอบวาระการประชุมผู้ถือหุ้นล่วงหน้าไว้ในเว็บไซต์ก่อนจัดส่งเอกสาร
  4. อํานวยความสะดวกให้ผู้ถือหุ้นในวันประชุมอย่างเท่าเทียมกัน โดยจัดเจ้าหน้าที่ต้อนรับ และให้ข้อมูลในการตรวจเอกสาร และลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมประชุมอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ บริษัทใช้ระบบบาร์โค้ด (Barcode) ในการลงทะเบียน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็ว และได้มีการจัดเตรียมอากรแสตมป์ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นมีการมอบฉันทะมา โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ บริษัทได้จัดให้สถานที่จัดการประชุมมีขนาดที่เพียงพอเพื่อรองรับกับจํานวนผู้ถือหุ้น และกำหนดสถานที่ประชุมเป็นบริเวณที่มีการคมนาคมสะดวกอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร
  5. บริษัทไม่กระทําการใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการจํากัดสิทธิในการเข้าร่วมประชุมของผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นทุกคนย่อมมีสิทธิเข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้นตลอดระยะเวลาการประชุม
  6. ก่อนเริ่มประชุมทุกครั้งประธานกรรมการจะเป็นผู้ชี้แจงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมทั้งหมด อาทิ การเปิดประชุม วิธีการลงคะแนน และวิธีการนับคะแนนเสียงของผู้ถือหุ้นที่จะต้องลงมติในแต่ละวาระตามข้อบังคับของบริษัท เป็นต้น ในการนับคะแนนเสียง บริษัทจะดำเนินการนับคะแนนเสียงของผู้ถือหุ้นที่ยังไม่ได้ลงคะแนนทุกระเบียบวาระในห้องประชุม และแสดงผลสรุปของคะแนนเสียงทุกระเบียบวาระอย่างชัดเจนในห้องประชุม ซึ่งบริษัทได้จัดแยกการลงคะแนนเสียงสำหรับแต่ละเรื่องอย่างชัดเจน เพื่อรักษาสิทธิของผู้ถือหุ้น
  7. การดำเนินการนับคะแนนเสียง บริษัทจัดให้มีบุคคลภายนอกที่เป็นอิสระเป็นผู้ตรวจนับหรือตรวจสอบคะแนนเสียงในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นและวิสามัญผู้ถือหุ้น อาทิ ฝ่ายกฏหมาย หรือผู้ถือหุ้นที่ได้รับการคัดเลือกและเห็นชอบจากที่ประชุม เป็นต้น พร้อมเปิดเผยให้ที่ประชุมทราบและบันทึกไว้ในรายงานการประชุม
  8. ประธานกรรมการจัดสรรเวลาในการประชุมอย่างเพียงพอ และดำเนินการประชุมอย่างเหมาะสมและโปร่งใส โดยระหว่างการประชุมเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถใช้สิทธิในการดูแลรักษาผลประโยชน์ของตนโดยการซักถาม แสดงความเห็นให้ข้อเสนอแนะและออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นใช้สิทธิร่วมตัดสินใจในเรื่องที่สําคัญต่างๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อบริษัท เช่น การแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการการเสนอชื่อบุคคลเพื่อเป็นกรรมการอิสระ การอนุมัติผู้สอบบัญชี การจัดสรรเงินปันผล การลดทุนหรือเพิ่มทุน การกําหนดหรือการแก้ไขข้อบังคับ บริคณห์สนธิและการอนุมัติรายการพิเศษ เป็นต้น
  9. ประธานกรรมการ กรรมการ และผู้บริหารที่เกี่ยวข้องมีความรับผิดชอบในการเข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อตอบคำถามแก่ผู้ถือหุ้น
  10. ให้สิทธิผู้ถือหุ้นที่มาร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้นภายหลังเริ่มการประชุมแล้ว มีสิทธิออกเสียงหรือลงคะแนนในระเบียบวาระที่อยู่ระหว่างการพิจารณาและยังไม่ได้ลงมติ
  11. บริษัทได้ระบุการมีส่วนได้เสียของกรรมการไว้ในหนังสือเชิญประชุมสามัญผู้ถือหุ้น และในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น หากกรรมการท่านใดมีส่วนได้เสียหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการพิจารณาวาระใดประธานที่ประชุมจะแจ้งให้ผู้เข้าร่วมประชุมทราบก่อนการพิจารณาวาระ โดยกรรมการท่านที่มีส่วนได้เสียนั้นจะไม่ร่วมประชุมและงดออกเสียงในวาระนั้นๆ
  12. บริษัททำการเปิดเผยผลการลงคะแนนเสียงของแต่ละวาระในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น และวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันทำการถัดไปบนเว็บไซต์ของบริษัท
  13. บริษัทได้จัดทํารายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายใน 14 วัน หลังวันประชุม ตามข้อกําหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเผยแพร่บันทึกรายละเอียดการประชุมอย่างครบถ้วนเหมาะสม ประกอบด้วย การบันทึกรายงานการประชุมการออกเสียง และข้อซักถามของผู้ถือหุ้นในแต่ละวาระอย่างละเอียด
หมวดที่ 2 การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน

  1. บริษัทให้ความสําคัญต่อผู้ถือหุ้นทุกราย โดยเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นใช้สิทธิเสนอเพิ่มระเบียบวาระการประชุมและเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อเข้ารับการเลือกตั้งเป็นกรรมการบริษัทอย่างน้อย 3 เดือน ก่อนวันสิ้นสุดรอบปีบัญชีและเผยแพร่หลักเกณฑ์การใช้สิทธิดังกล่าวผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งได้แจ้งให้ทราบถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าจะรับเรื่องที่เสนอมานั้นอย่างชัดเจน โดยได้เผยแพร่บนเว็บไซต์ของบริษัท
  2. ผู้ถือหุ้นมีสิทธิมอบฉันทะให้ผู้อื่นมาประชุมและลงมติแทน มีสิทธิได้รับเอกสารและคําแนะนําในการมอบฉันทะผู้รับมอบฉันทะที่ถูกต้องตามกฎหมายเมื่อยื่นหนังสือมอบฉันทะให้กรรมการในที่ประชุมแล้วย่อมมีสิทธิเข้าร่วมประชุมและลงมติเช่นเดียวกับผู้ถือหุ้นทุกประการ
  3. ทำการเสนอรายชื่อของกรรมการอิสระในหนังสือมอบฉันทะของบริษัทเพื่อให้เป็นทางเลือกของผู้ถือหุ้นมีโอกาสเลือกการมอบฉันทะแก่กรรมการอิสระคนใดคนหนึ่ง
  4. ดําเนินการประชุมผู้ถือหุ้นตามลําดับระเบียบวาระที่ได้แจ้งไว้ในหนังสือเชิญประชุม และมีนโยบายที่จะไม่เพิ่มระเบียบวาระในที่ประชุมโดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้า เพื่อให้ผู้ถือหุ้นมีโอกาสศึกษาข้อมูลประกอบระเบียบวาระก่อนตัดสินใจ
  5. ประธานกรรมการ กรรมการและผู้บริหารที่เกี่ยวข้องมีความรับผิดชอบในการเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อตอบคำถามแก่ผู้ถือหุ้น รวมทั้งได้บันทึกประเด็นซักถามและข้อคิดเห็นที่สําคัญไว้ในรายงานการประชุมเพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถตรวจสอบได้
  6. เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นลงทะเบียนถึงแม้จะพ้นเวลาลงทะเบียนแล้วก็ยังเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นที่ประสงค์จะร่วมประชุมสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมได้โดยไม่เสียสิทธิ
  7. จัดทำบัตรลงคะแนนระบบบาร์โค้ดแยกตามเรื่องที่สำคัญๆ ทุกระเบียบวาระเพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถลงคะแนนได้ตามที่เห็นสมควร และมีการนำผลคะแนนมารวมคำนวณกับคะแนนเสียงที่ได้ลงไว้ล่วงหน้าในหนังสือมอบฉันทะ ก่อนที่จะประกาศแจ้งมติของคะแนนเสียงในที่ประชุม และเพื่อความโปร่งใส บริษัทจะจัดเก็บบัตรลงคะแนนจากผู้ถือหุ้นเพื่อการตรวจสอบในภายหลังได้ด้วย
  8. เปิดเผยข้อมูลที่เป็นปัจจุบันผ่านเว็บไซต์ของบริษัทเพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้รับทราบข้อมูลข่าวสารสําคัญของบริษัทที่มีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงสารสนเทศที่บริษัทเปิดเผยตามข้อกําหนดต่างๆโดยภายหลังจากการเปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว จะนําข้อมูลเผยแพร่ในเว็บไซต์ของบริษัททั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมถึงจัดให้มีช่องทางการสื่อสารระหว่างบริษัทกับผู้ถือหุ้นในเว็บไซต์บริษัทเพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถซักถามและได้รับข้อมูลอย่างเท่าเทียม
  9. กำหนดหน้าที่ของกรรมการและผู้บริหารห้ามทำการซื้อขายหลักทรัพย์ในช่วง 1 เดือน ก่อนที่ข้อมูลงบการเงินหรือข้อมูลอื่นที่มีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ของบริษัทจะเผยแพร่ต่อสาธารณชน และต้องไม่ซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทจนกว่าจะพ้นระยะเวลา 24 ชั่วโมง นับแต่การเปิดเผยข้อมูลนั้นสู่สาธารณะทั้งหมด รวมถึงเมื่อกรรมการหรือผู้บริหารระดับสูงมีการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทจะทำการรายงานการถือหลักทรัพย์ให้ที่ประชุมคณะกรรมการรับทราบ พร้อมกับรายงานภายใน 3 วันทำการให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ทราบเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนต่อไป
  10. กำหนดให้กรรมการหรือผู้บริหารระดับสูงจะต้องรายงานการมีส่วนได้ส่วนเสียให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทรับทราบ
  11. กำหนดให้กรรมการและผู้บริหารระดับสูงต้องรายงานเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นของบริษัทอย่างน้อย 1 วันล่วงหน้าก่อนทำการซื้อขายต่อเลขานุการบริษัท
หมวดที่ 3 บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย

คณะกรรมการบริษัทได้ให้ความสำคัญต่อสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้มีส่วนได้เสียภายใน ได้แก่ พนักงานและผู้บริหารของบริษัท หรือผู้มีส่วนได้เสียภายนอก ได้แก่ ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า เจ้าหนี้ คู่แข่ง เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงชุมชนที่บริษัทตั้งอยู่ สิ่งแวดล้อมและสังคม เนื่องจากบริษัทได้ตระหนักถึงแรงสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ซึ่งจะสร้างความสามารถในการแข่งขัน และสร้างกำไรให้แก่บริษัท ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างความสำเร็จในระยะยาวของบริษัทอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ บริษัทได้ให้ความสำคัญต่อสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มโดยมีรายละเอียด ดังนี้

ผู้ถือหุ้น

บริษัทฯ ปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมด้วยสิทธิขั้นพื้นฐาน ยึดมั่นในข้อปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีมุ่งมั่นเป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้นในการดําเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสมีระบบบัญชีและการเงินที่มีความเชื่อถือได้ และเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ถือหุ้นทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัททั้งสิทธิในการเข้าร่วมประชุมและการออกเสียงลงมติในที่ประชุมผู้ถือหุ้นการมอบฉันทะ การให้ข้อมูลล่วงหน้าในเวลาที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการตัดสินใจสถานที่ประชุม การจัดสรรเวลาให้ควรแก่วาระ การเปิดเผยข้อมูลส่วนได้เสียและสิทธิในการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระในที่ประชุม เป็นต้น นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัทจะไม่ดําเนินการใดๆ ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ต่อบริษัทไม่แสวงหาประโยชน์ให้ตนเองและไม่เปิดเผยข้อมูลลับต่อบุคคลภายนอก

พนักงาน

บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับพนักงานทุกคน ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทจึงได้กำหนดให้มีนโยบายในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับพนักงาน อาทิ เงินเดือน โบนัส สวัสดิการด้านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ด้านเครื่องแบบพนักงาน ด้านกีฬา การตรวจสุขภาพพนักงานประจำปี และด้านความช่วยเหลือกรณีคลอดบุตร บาดเจ็บ หรือทุพพลภาพ เป็นต้น นอกจากนี้บริษัทดำเนินการพัฒนาพนักงานทุกระดับเพื่อเพิ่มขีดความสามารถสำหรับรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต โดยจัดให้มีการฝึกอบรมเพื่อส่งเสริมเพิ่มพูนความรู้ความสามารถในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพนักงานแต่ละแผนกจัดให้อยู่ในระดับที่สมเหตุสมผลและให้เหมาะสมกับผลการปฏิบัติงานของพนักงานแต่ละคนในแต่ละระดับพร้อมกับมีการถ่ายทอดความรู้ให้กับพนักงานในแผนกนั้นๆ

ระเบียบและแนวปฏิบัติมีดังนี้

  1. ดูแลรักษาสภาพแวดล้อมการทํางานให้มีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของพนักงาน
  2. ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการฝึกอบรมให้ความรู้กับพนักงานในทุกด้าน เช่น การพัฒนาศักยภาพในการทำงาน การให้ความสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
  3. การแต่งตั้ง การโยกย้ายรวมทั้งการให้รางวัลและการลงโทษพนักงานต้องกระทําด้วยความเสมอภาค บริสุทธิ์ใจ และตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ ความสามารถและความเหมาะสม รวมทั้งการกระทําหรือการปฏิบัติของพนักงานนั้นๆ
  4. ปฏิบัติต่อพนักงานบนพื้นฐานแห่งความยุติธรรม และให้ความสําคัญต่อการพัฒนาการถ่ายทอดความรู้ และความสามารถของพนักงานโดยให้โอกาสกับพนักงานอย่างทั่วถึงและสมํ่าเสมอ
  5. รับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากพนักงานทุกระดับอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค
  6. ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพนักงานอย่างเคร่งครัด
  7. บริหารงานโดยหลีกเลี่ยงการกระทําใดๆ ที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงในหน้าที่ การงานของพนักงาน
  8. ปฏิบัติต่อพนักงานด้วยความสุภาพและให้ความเคารพต่อความเป็นปัจเจกชนและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
  9. ส่งเสริมให้พนักงานเข้าใจในเรื่องจรรยาบรรณและบทบาทหน้าที่เพื่อส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมที่อยู่ในกรอบของจรรยาบรรณอย่างทั่วถึง
  10. ส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในการกําหนดทิศทางในการทํางานรวมถึงการแก้ไขปัญหาของหน่วยงาน และบริษัทโดยรวม
  11. กำหนดให้มีการอบรมการกํากับดูแลกิจการและการต่อต้านการคอร์รัปชั่นในหลักสูตรปฐมนิเทศพนักงานใหม่

นโยบายค่าตอบแทนและสวัสดิการ

  1. บริษัทฯ จัดให้มีการจ้างงานที่ยุติธรรม และให้พนักงานมีโอกาสก้าวหน้าในบริษัทอย่างเป็นธรรม
  2. บริษัทฯ เปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนแสดงความสามารถอย่างเต็มที่ โดยจัดผลตอบแทนที่เหมาะสม และสร้างแรงกระตุ้นในการทำงาน ทั้งในรูปแบบของเงินเดือน เงินรางวัลประจำปี และค่าล่วงเวลา
  3. บริษัทฯ มีนโยบายค่าตอบแทนพนักงาน ซึ่งพิจารณาจากอุตสาหกรรมที่มีขนาดใกล้เคียงกัน ความเหมาะสม ประสบการณ์ คุณวุฒิ หน้าที่ความรับผิดชอบ ผลประกอบการของบริษัท ผลการประเมินความสามารถ (Competency) และผลการประเมินการทำงาน (Key Performance Indicators)
  4. ให้ผลตอบแทนที่เป็นธรรมและเหมาะสมตามความรู้ความสามารถ ความรับผิดชอบและผลการปฏิบัติงานของพนักงานแต่ละคน
  5. บริษัทฯ จัดให้มีสวัสดิการที่ตอบสนองความต้องการของพนักงาน อาทิเช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การตรวจสุขภาพประจำปี กองทุนเงินทดแทน ชุดฟอร์มพนักงาน เงินช่วยเหลือพนักงานด้านต่างๆ เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะความสามารถ

ช่องทางการร้องเรียนของพนักงาน

บริษัทฯ กำหนดช่องทางให้พนักงานเข้าแจ้งเรื่องที่ส่อไปในทางผิดระเบียบวินัยและกฎหมายได้ โดยมีการประชาสัมพันธ์ที่บอร์ดและเว็บไซต์ภายในของบริษัทถึงช่องทางในการแสดงความคิดเห็นและเรื่องร้องเรียน ได้แก่ กล่องรับความคิดเห็นและเรื่องร้องเรียนภายในบริษัท และกรรมการผู้จัดการเท่านั้นที่มีกุญแจสามารถเปิดกล่องร้องเรียนได้ รวมถึงอีเมลของกรรมการผู้จัดการที่ panom@agecoal.com

นโยบายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

บริษัทฯ ได้ตระหนักว่าพนักงานเป็นปัจจัยหนึ่งแห่งความสําเร็จ จึงกําหนดนโยบายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันและควบคุมไม่ให้เกิดอันตรายเนื่องจากการทำงาน ซึ่งถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของพนักงานทุกคนที่จะต้องให้ความร่วมมือในการตรวจตรา และเฝ้าระวังสภาพแวดล้อมในการทำงานให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย

การเคารพสิทธิมนุษยชนสากล

คณะกรรมการตระหนักดีว่าการเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นรากฐานของการพัฒนาทรัพยากรบุคคล อันมีส่วนช่วยในการเพิ่มคุณค่าให้ธุรกิจของบริษัท โดยพนักงานทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพที่จะมีสถานที่ทำงานที่สะอาด ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ ปราศจากการล่วงละเมิดหรือกดขี่ข่มเหงในทุกรูปแบบ มีการจ้างงานที่เป็นธรรม โดยไม่มีการบังคับการใช้แรงงานโดยไม่สมัครใจหรือใช้แรงงานเด็ก รวมทั้งมีการสนับสนุนให้พนักงานได้แสดงศักยภาพ และคุณค่าแห่งตนในการเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาองค์กรให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนร่วมกัน ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการบริษัทจึงได้กำหนดนโยบายให้ผู้บริหารและพนักงานทุกคนได้ยึดถือปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้หลักความยุติธรรม และความจริงใจในการบริหารจัดการเกี่ยวกับค่าจ้าง สวัสดิการและผลประโยชน์ โดยบริษัทกำหนดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อส่งเสริมการออมและเพื่อให้พนักงานได้มีเงินก้อนไว้ใช้ในวัยหลังเกษียณอายุ นอกจากนี้ บริษัทยังมีกระบวนการการแจ้งเบาะแสและร้องเรียนอย่างเหมาะสมสำหรับพนักงานที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม พร้อมทั้งมีกลไกการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสดังกล่าวด้วย

บริษัทฯ ยึดมั่นในการให้ผลตอบแทนที่เป็นธรรมแก่พนักงาน ทั้งด้าน เงินเดือน สวัสดิการ และผลตอบแทนในรูปแบบอื่นที่เชื่อมโยงกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้นในระยะยาว มีการบริหารจัดการบุคลากรด้วยความเป็นธรรมควบคู่กับการเปิดโอกาสในการเรียนรู้พัฒนาความรู้ ความสามารถของพนักงานอย่างเต็มศักยภาพ อย่างทั่วถึงและสมํ่าเสมอ

ลูกค้า

บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะจัดหาสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน มีการตรวจสอบคุณภาพสินค้า การจัดส่งที่ถูกต้องและทันเวลา ปฏิบัติตามสัญญา ข้อตกลง หรือเงื่อนไขต่างๆ ที่มีต่อลูกค้าอย่างโปร่งใสและเท่าเทียมกัน พร้อมกับการเอาใจใส่กับความต้องการในรูปแบบต่างๆ ของลูกค้าในแต่ละอุตสาหกรรม โดยมีหน่วยงานที่ติดต่อกับลูกค้า พร้อมให้คำแนะนำ และรับฟังข้อเสนอแนะหรือข้อคิดเห็นของลูกค้า รวมถึงในเรื่องการรักษาความลับของลูกค้า โดยมีระเบียบและแนวปฏิบัติมีดังนี้

ระเบียบและแนวปฏิบัติมีดังนี้

  1. จัดให้มีระบบการดูแล เก็บรักษา ปกป้องและคุ้มครองหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินใดๆ ที่ลูกค้ามอบหมายให้อยู่ในความดูแลของบริษัทอย่างรัดกุมและเหมาะสม
  2. ดำรงไว้ซึ่งสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ให้เพียงพอตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่ทางการกำหนดเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของลูกค้า
  3. ไม่เรียก ร้องขอ หรือรับเงิน ของขวัญ หรือรางวัล หรือสิ่งตอบแทนอื่นใดจากลูกค้าหรือบุคคลอื่น เว้นแต่เป็นการรับอันเนื่องจากการให้ตามประเพณีนิยม
  4. ยึดถือและดำรงความซื่อสัตย์สุจริตเป็นหลักในการดำเนินธุรกิจ
  5. ปฏิบัติตามมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทอันเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป
  6. ดำเนินธุรกิจโดยถูกต้องตามกฎหมายและข้อกำหนดของทางการ และจะไม่ให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริม หรือสนับสนุนกิจกรรมและธุรกรรมใดๆ ที่มิชอบด้วยกฎหมาย
  7. ติดตามพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้า ตลอดจนทุ่มเทกำลังความสามารถในการปฏิบัติงาน
  8. ใช้ความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ ความระมัดระวังและเอาใจใส่ในผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพแก่ลูกค้าเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ
  9. จัดเก็บรักษา และดูแลข้อมูลอันเป็นความลับของลูกค้าอย่างรัดกุมเหมาะสม และจะไม่เปิดเผยข้อมูลอันเป็นความลับนั้นแก่บุคคลอื่น เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากลูกค้าหรือเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย
  10. สื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือบริการของบริษัทให้ลูกค้าเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง

คู่ค้า

บริษัทฯ คำนึงถึงความสำคัญกับคู่ค้า มีการซื้อสินค้าและบริการจากคู่ค้าเป็นไปตามเงื่อนไขทางการค้า รวมถึงปฏิบัติตามกฎหมาย กติกาและสัญญาต่อคู่ค้าอย่างยุติธรรม โปร่งใส และให้ความสำคัญในเรื่องของการชำระค่าสินค้าตามกำหนดเวลา ทั้งนี้บริษัทมีระบบการคัดเลือกคู่ค้าที่มีความน่าเชื่อถือ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจได้ว่าลูกค้าจะได้รับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กำหนด โดยมีแนวทางปฏิบัติมีดังนี้

  1. ไม่เรียกร้อง ไม่รับไม่จ่ายผลประโยชน์ใดๆ ทางการค้ากับคู่ค้าโดยไม่สุจริต และปฏิบัติตามสัญญา ข้อตกลงและเงื่อนไขต่างๆ ที่มีต่อคู่ค้าอย่างเคร่งครัด ในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้จะรีบแจ้งให้คู่ค้าทราบล่วงหน้าเพื่อร่วมกันพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยหลักแห่งความสมเหตุสมผล
  2. ควบคุมดูแลหรือป้องกันในกรณีที่เกิดหรืออาจเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทอย่างเหมาะสม และจะไม่แสวงหาประโยชน์ใดๆ ที่มิชอบด้วยกฎหมาย หรือขัดต่อข้อกำหนดของทางราชการ
  3. ไม่ดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้บริหาร พนักงานใช้ทรัพยากร และทรัพย์สินของบริษัทอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้สินค้าและบริการที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง และไม่สนับสนุนการใช้สินค้าหรือบริการที่เป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
  4. ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อตกลงทางการค้าอย่างเคร่งครัด เพื่อส่งผลให้เกิดการค้าที่มีมาตรฐานทั้งกับคู่ค้าในประเทศและต่างประเทศ
  5. จ่ายเงินคู่ค้าให้ตรงเวลา ตามเงื่อนไขการชำระเงินที่ตกลงกัน

ทรัพย์สินทางปัญญาและลิขสิทธิ์

คณะกรรมการมีนโยบายที่จะปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาหรือลิขสิทธิ์ โดยการนำผลงานหรือข้อมูลอันเป็นสิทธิของบุคคลภายนอกที่ได้รับมาหรือที่จะนำมาใช้ภายในบริษัทจะต้องตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือลิขสิทธิ์ของผู้อื่น โดยมีแนวทางปฏิบัติมีดังนี้

  1. บริษัทฯ ต้องดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับกฎหมายและข้อบังคับในทุกประเทศที่บริษัทฯ เข้าไปลงทุน รวมถึงข้อผูกพันตามสัญญาที่เกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่ถูกต้อง สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ ความลับทางการค้า และข้อมูลกรรมสิทธิ์อื่นๆ
  2. บริษัทฯ จะไม่ละเมิดหรือนำาสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่ถูกต้องไปใช้ในทางที่ผิด
  3. บุคลากรของบริษัทฯ ที่มีหน้าที่รักษาความลับทางการค้า สูตรลับทางการค้า กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์หรือวิธีการประกอบธุรกิจที่เป็นความลับจะต้องรักษาความลับนั้นๆให้ปลอดภัยที่สุดและป้องกันมิให้ข้อมูลเหล่านั้นรั่วไหล
  4. บุคลากรของบริษัทฯต้องเคารพสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่นไม่นำาผลงานของผู้อื่นแม้เพียงบางส่วนไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตนโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือให้ค่าตอบแทนแก่เจ้าของงานเสียก่อน

เจ้าหนี้

บริษัทฯ มีการกำหนดเงื่อนไขและการปฏิบัติกับเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินต่างๆ ที่ได้ให้การสนับสนุนทางด้านการเงินแก่บริษัทอย่างมีความเหมาะสมกับสภาวะการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้บริษัทได้ทำการดูแลสถานะการเงินของบริษัทเพื่อให้มั่นใจได้ว่าบริษัทสามารถควบคุมความเสี่ยงในด้านการเงินได้และพร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไขการกู้ยืมเงินตามข้อตกลง โดยมีแนวทางปฏิบัติดังนี้

  1. ปฏิบัติตามข้อตกลงที่มีต่อเจ้าหนี้ กรณีที่จะไม่สามารถปฏิบัติได้ต้องรีบเจรจากับเจ้าหนี้เป็นการล่วงหน้า เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย
  2. ให้ข้อมูลทางการเงินที่ถูกต้อง ครบถ้วนตามความเป็นจริง
  3. ไม่เรียก ไม่รับ หรือไม่ให้ผลประโยชน์ใดๆ ที่ไม่สุจริตกับเจ้าหนี้ ถ้ามีข้อมูลว่ามีการจ่ายผลประโยชน์ใดๆ ที่ไม่สุจริตเกิดขึ้น พึงหารือกับเจ้าหนี้เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยยุติธรรมและรวดเร็ว

คู่แข่ง

ประพฤติปฏิบัติตามกรอบกติกาของการแข่งขันที่เป็นธรรมและตั้งอยู่บนพื้นฐานของการได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่ายหลีกเลี่ยงวิธีการที่ไม่สุจริตเพื่อทำลายคู่แข่งทางการค้า และไม่แสวงหาข้อมูลที่เป็นความลับของคู่แข่งทางการค้าด้วยวิธีการที่ไม่สุจริตหรือไม่เหมาะสมและไม่ทําลายชื่อเสียงของคู่แข่งทางการค้าด้วยการกล่าวหาในทางเสื่อมเสียโดยปราศจากข้อมูลความจริง โดยมีแนวทางปฏิบัติดังนี้

  1. แข่งขันทางการค้าภายในกรอบกติกาของการแข่งขันที่เป็นธรรมตั้งอยู่บนพื้นฐานของการได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย
  2. ไม่แสวงหาข้อมูลที่เป็นความลับของคู่แข่งด้วยวิธีการที่ไม่สุจริต ผิดกฎหมาย
  3. ไม่ทําลายชื่อเสียงของคู่แข่งทางการค้าด้วยการกล่าวหาในทางเสื่อมเสียโดยปราศจากข้อมูลความจริง

ชุมชนและสังคม

บริษัทฯ จัดตั้งหน่วยงานมวลชนสัมพันธ์ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อสร้างความเข้าใจและความไว้วางใจจากชุมชนที่อยู่อาศัยโดยบริเวณรอบพื้นที่คลังสินค้าและโรงคัดแยก และทำหน้าที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาสภาพสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นกับชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบ และใกล้เคียงบริษัท พร้อมกับดูแลปัญหาข้อร้องทุกข์ของชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณนั้น บริษัทยังได้ให้การสนับสนุนในส่วนของภาครัฐของชุมชนโดยรอบและใกล้เคียง สนับสนุนการพัฒนาการศึกษาโรงเรียน สนับสนุนกิจกรรมด้านศาสนา สนับสนุนกิจกรรมเด็กนักเรียนและผู้สูงอายุ เป็นต้น ตามโอกาสสมควร นอกจากนี้ในการรับสมัครงานของบริษัทจะให้ความสำคัญแก่ผู้ที่มีภูมิลำเนาในบริเวณใกล้เคียง ทั้งนี้เพื่อสร้างงานให้แก่ท้องถิ่นและสนับสนุนผู้ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงอันจะนำมาซึ่งรายได้และความเจริญทางธุรกิจในชุมชนนั้น

การร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม

บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญของชุมชนและสังคมที่เข้มแข็งและมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นปัจจัยที่มีส่วนช่วยให้ธุรกิจของบริษัทมีการเติบโตอย่างยั่งยืน ดังนั้นบริษัทจึงมีนโยบายในการกำหนดมาตรการในการป้องกันผลกระทบที่มีต่อชุมชนที่บริษัทตั้งอยู่ รวมถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมและสนับสนุนกิจกรรมในทุกภาคส่วน เช่น ภาครัฐ องค์กรท้องถิ่น และชุมชน โดยบริษัทมีแนวทางและการดำเนินการพัฒนาชุมชนและสังคมตามหลักของ CSR-DIW ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นโครงการที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมทุกขนาดให้ดำเนินการตามมาตรฐานของกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเรื่องความรับผิดชอบของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อสังคม การสร้างเครือข่ายในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมและชุมชนอย่างมีคุณภาพมีการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ความชำนาญการมุ่งไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ บริษัทจัดให้มีกิจกรรมและส่วนร่วมสนับสนุนกิจกรรมในการพัฒนาชุมชนและสังคม โดยมุ่งเน้นกิจกรรมด้านต่างๆ ดังนี้

  1. กิจกรรมสนับสนุนด้านการศึกษา
  2. กิจกรรมส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทย
  3. กิจกรรมส่งเสริมสังคมและสาธารณประโยชน์
  4. กิจกรรมส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม

สิ่งแวดล้อม

บริษัทฯ ตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทเป็นอย่างดี เนื่องจากบริษัทดำเนินธุรกิจนำเข้า คัดแยก และจัดจำหน่ายถ่านหิน ซึ่งอาจมีผลกระทบ คือการมีฝุ่นฟุ้งกระจายรอบบริเวณโรงงานคัดแยกและคลังเก็บสินค้า ท่าเรือ และบริเวณที่รถบรรทุกขนส่งสินค้าเพื่อนำไปจัดส่งให้กับลูกค้า บริษัทฯ จึงมีการกำหนดนโยบายการดำเนินธุรกิจภายใต้มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม หรือ ISO 14001:2015 เพื่อดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทั้งมลภาวะทางเสียง ทางอากาศ และทางน้ำ โดยบริเวณคลังสินค้าและโรงคัดแยกของบริษัททั้ง 3 แห่ง ได้แก่ สาขาจังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นสาขาที่มีกระบวนการคัดแยกถ่านหิน บริษัทฯ มีนโยบายในการก่อสร้างและปรับปรุงโรงงานและคลังสินค้าให้เป็นระบบปิด โดยการสร้างอาคารคลุมเครื่องจักรเพื่อป้องกันเสียงและฝุ่นละอองออกสู่ภายนอก ในส่วนของถ่านหินที่อยู่ภายนอกอาคาร บริษัทได้ใช้ผ้าใบคลุมบนกองถ่านหินและมีระบบฉีดน้ำรอบๆ บริเวณ เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย และเพื่อเป็นการป้องกันมลภาวะทางน้ำ บริษัทได้สร้างบ่อพักพร้อมกับคูน้ำโดยรอบพื้นที่คลังสินค้าและโรงคัดแยก เพื่อป้องกันน้ำจากถ่านหินไหลออกไปภายนอกโดยตรง มีระบบการคัดแยกที่ได้มาตรฐาน มีระบบการรักษาความปลอดภัย ระบบการรักษาความสะอาดสุขอนามัย ในสาขาจังหวัดพระนครศรีอยุธยาบริษัทได้สร้างคันดินสูง 6 เมตร พร้อมทั้งปลูกต้นไม้มากกว่า 20,000 ต้น เพื่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ในส่วนของการขนส่งถ่านหินบริษัทจะใช้ผ้าใบปิดคลุมบนรถบรรทุกขนส่งถ่านหินทุกคันอย่างมิดชิด และจะต้องผ่านการตรวจสอบก่อนที่รถจะเคลื่อนที่ออกจากบริเวณท่าเรือและคลังสินค้า สำหรับบริเวณท่าเรือซึ่งจะเป็นจุดขนย้ายถ่านหินไปยังลูกค้าหรือโรงงานคัดแยกจะมีระบบสเปรย์น้ำเพื่อป้องกันฝุ่นฟุ้งกระจายเช่นกัน ซึ่งจากนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่บริษัทฯ ได้จัดทำขึ้นเพื่อป้องกันปัญหาและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่กล่าวมานั้น เกิดจากการที่บริษัทฯ ใส่ใจและให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อมาตรการด้านการป้องกันปัญหาและผลกระทบต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งนอกจากการออกมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นก่อนล่วงหน้าแล้ว บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการปรับปรุงและแก้ไขมาตรการต่างๆ ที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นกว่าเดิมด้วย

นโยบายการดําเนินธุรกิจภายใต้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม

บริษัทฯ มีเจตจํานงที่จะประกอบธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ตามหลักการดังนี้

  1. ดําเนินกิจการโดยมีเป้าหมายในการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้เป็นไปตามข้อกําหนดทางกฎหมาย
  2. มุ่งพัฒนากระบวนการดําเนินงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ตลอดจนทบทวน และประเมินผลการ ดําเนินงานอย่างสม่ำเสมอ
  3. ปลูกฝังและส่งเสริมพนักงานรวมทั้งผู้เกี่ยวข้องให้มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
  4. แสวงหาโอกาสที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์จากการดําเนินงานกับหน่วยงานอื่น เพื่อ ปรับปรุงการดําเนินงานอย่างต่อเนื่อง

การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

คณะกรรมการได้ตระหนักและส่งเสริมให้มีการปลูกจิตสำนึกในการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดขึ้นในองค์กร โดยให้ความรู้ และมีการกำหนดแนวทางในการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

  • กำหนดแผนงานการใช้ทรัพยากร และแผนงานการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ในขั้นตอนต่างๆ
  • กำหนดแผนงานและกิจกรรมรณรงค์การประหยัดน้ำ-ไฟฟ้า
  • กำหนดแผนการลดใช้กระดาษ
  • จัดกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างจิตสำนึก

การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

คณะกรรมการบริษัทตระหนักและส่งเสริมให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับดำเนินกิจการอย่างมี สำนึก โปร่งใส ยึดหลักธรรมาภิบาล และไม่สนับสนุนการคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม จึงกำหนดนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นและการจ่ายสินบน โดยห้ามมิให้กรรมการ ผู้บริหาร พนักงานตลอดจนบุคคลที่สามที่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทฯ กระทำการใดๆ ที่ส่อไปในทางคอร์รัปชั่น ไม่ว่าจะโดยการนำเสนอ (Offering) การให้คำมั่นสัญญา (Promising) การขอ (Soliciting) การเรียกร้อง (Demanding) การให้หรือรับสินบน (Giving or Accepting bribes) บริษัทฯ ไม่ยอมรับการคอร์รัปชั่นใดๆ ทั้งสิ้นโดยครอบคลุมถึงธุรกิจและรายการทั้งหมดในทุกประเทศและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัทฯ จะสอบทานขั้นตอนการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย ธุรกิจ และรักษาชื่อเสียงของบริษัทฯ

นโยบายการแจ้งเบาะแส / ข้อร้องเรียน

คณะกรรมการบริษัทให้ความสำคัญต่อการรับเรื่องร้องเรียน และการแจ้งเบาะแส จึงกำหนดเป็นนโยบายการเปิดโอกาสให้พนักงานและผู้มีส่วนได้เสีย มีช่องทางการร้องเรียน การแสดงความคิดเห็น และแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดกฎหมาย การทุจริต ความถูกต้องของรายงานทางการเงิน ระบบควบคุมภายในที่บกพร่อง การละเมิดสิทธิ การปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกัน การกระทำที่ขาดความรอบคอบ และขาดความระมัดระวัง รวมถึงการรับข้อร้องเรียนด้านการกำกับดูแลกิจการและจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท ตลอดจนพฤติกรรมที่อาจส่อถึงการทุจริต

มาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนหรือผู้แจ้งเบาะแสและบุคคลที่เกี่ยวข้อง

ผู้แจ้งเรื่องร้องเรียนหรือผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับความคุ้มครองที่เหมาะสมและเป็นธรรมจากบริษัทฯ เช่นไม่มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งงานหรือลดตำแหน่ง ลักษณะงานสถานที่ทำงาน พักงาน ข่มขู่ รบกวนการปฏิบัติงาน เลิกจ้าง หรือการกระทำอื่นใดที่ไม่เป็นธรรมแก่ผู้แจ้งเรื่องร้องเรียน หรือผู้แจ้งเบาะแสดังกล่าวสำหรับข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนบริษัทฯจะเก็บรักษาเป็นความลับไม่เปิดเผยต่อผู้ไม่เกี่ยวข้อง เว้นแต่ที่จำเป็นต้องเปิดเผยตามข้อกำหนดของกฎหมายบุคคลที่เกี่ยวข้องที่ได้รับทราบเรื่อง หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องร้องเรียนจะต้องรักษาข้อมูลให้เป็นความลับและไม่เปิดเผยต่อบุคคลอื่น หากมีการจงใจฝ่าฝืนนำข้อมูลออกไปเปิดเผยบริษัทฯ จะดำเนินการลงโทษตามระเบียบข้อบังคับของบริษัทฯ และ/หรือดำเนินการทางกฎหมาย แล้วแต่กรณี

ช่องทางในการร้องเรียนและการแจ้งบาะแส

เพื่อให้มีการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกันและมีความเป็นธรรมตามหลักการกำกับดูแลกิจการ บริษัทฯ ได้จัดให้มีช่องทางในการร้องเรียน หรือแจ้งเบาะแส หรือข้อคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะใดที่แสดงว่าผู้มีส่วนได้เสียได้รับผลกระทบหรือมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบอันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ หรือจากการปฏิบัติของพนักงานของบริษัทฯ เกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายหรือจรรยาบรรณ รายงานทางการเงินที่ไม่ถูกต้อง หรือระบบควบคุมภายในที่บกพร่อง รวมถึงพฤติกรรมที่อาจส่อถึงการทุจริต การปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกัน หรือการกระทำที่ขาดความระมัดระวังและขาดความรอบคอบ สามารถแจ้งผ่านช่องทางสื่อสารโดยตรงหรือส่งจดหมายโดยระบุให้ชัดเจนว่าเป็นเอกสารความลับ ผ่านช่องทางดังต่อไปนี้

  1. จดหมายลงทะเบียน
    • ถึงกรรมการอิสระ / กรรมการตรวจสอบ
    • บริษัท เอเชีย กรีน เอนเนอจี จำกัด (มหาชน)
    • 273/1 ถนนพระราม 2 แขวงแสมดำ
    • เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร 10150
  2. จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail)
    • คณะกรรมการบริษัท bod@agecoal.com
    • คณะกรรมการตรวจสอบ ac@agecoal.com
    • กรรมการอิสระ id@agecoal.com
    • เลขานุการบริษัท ni-orn@agecoal.com
    • นักลงทุนสัมพันธ์ ir@agecoal.com
  3. โทรศัพท์
    • เลขานุการบริษัท 02-894-0088 ต่อ 807
    • แผนกผู้ลงทุนสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร 02-894-0088 ต่อ 704
  4. กล่อง Drop Box
  5. Website บริษัท หัวข้อ “ช่องทางการร้องเรียน”

ทั้งนี้ เลขานุการบริษัทเป็นผู้รับผิดชอบในการรวบรวมเอกสารที่รับจากทุกช่องทางดังกล่าว เพื่อสรุปข้อเสนอแนะและประเด็นต่างๆ ทั้งหมดเพื่อจะเสนอคณะกรรมการทราบเป็นรายไตรมาส ยกเว้นเป็นจดหมายที่ส่งถึงคณะกรรมการตรวจสอบซึ่งจะถูกจัดส่งไปยังคณะกรรมการตรวจสอบโดยตรง และหากเป็นกรณีเร่งด่วนสามารถแจ้งโดยตรงที่กรรมการผู้จัดการ ที่อีเมล panom@agecoal.com หลังจากนั้นบริษัทฯ จะดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอนและบันทึกการสอบสวนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรโดยไม่เปิดเผยชื่อผู้แจ้งเบาะแสรวมทั้งดำเนินการจัดเก็บข้อมูลการแจ้งเบาะแสเป็นความลับเพื่อคุ้มครองผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้แจ้งเบาะแสดังกล่าว

กระบวนการในการประเมินความเสี่ยงจากการทุจริตคอร์รัปชั่น

บริษัทฯ กําหนดให้มีระบบการประเมินความเสี่ยงโดยระบุเหตุการณ์ / โอกาสที่อาจก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น เช่น การให้การช่วยเหลือทางการเมือง การรับหรือให้ของกํานัล เงินบริจาค และความสัมพันธ์ทางธุรกิจและการจัดซื้อจัดจ้าง โดยพิจารณาให้ครอบคลุมการทุจริตแบบต่างๆ เช่น การจัดทํารายงานทางการเงินเท็จ การทําให้สูญเสียทรัพย์สิน การคอร์รัปชัน การที่ผู้บริหารสามารถฝ่าฝืนระบบควบคุมภายใน (management override of internal controls) การเปลี่ยนแปลงข้อมูลในรายงานที่สําคัญ การได้มาหรือใช้ไปซึ่งทรัพย์สินโดยไม่ถูกต้อง พร้อมทั้งประเมินถึงโอกาสที่จะเกิดการทุจริตและระดับความรุนแรงของผลกระทบ ทั้งที่เป็นปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก กําหนดมาตรการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่นที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ประเมินได้ และมีการเฝ้าติดตามการประเมินผลการปฏิบัติ

แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการกำกับดูแลและควบคุมดูแลป้องกันและติดตามความเสี่ยงจากการทุจริตคอร์รัปชั่น

บริษัทฯ กําหนดให้มีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการกํากับดูแลและควบคุมดูแลเพื่อป้องกันและติดตามความเสี่ยงจากการทุจริตคอร์รัปชั่น สรุปได้ดังนี้

  1. กรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงานบริษัททุกระดับ ต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นโดยการไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
  2. พนักงานไม่พึงละเลยหรือเพิกเฉย เมื่อพบเห็นการกระทําที่เข้าข่ายการทุจริตคอร์รัปชั่นทีเกี่ยวข้องกับบริษัทฯ ต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบ และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ หากมีข้อสงสัยหรือข้อซักถามให้ปรึกษากับผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่กําหนดให้ทําหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการติดตามการปฏิบัติการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นผ่านช่องทางต่างๆ ที่กําหนดไว้
  3. บริษัทฯ จะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองพนักงานที่ปฏิเสธหรือแจ้งเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ โดยใช้มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียนหรือผู้ที่ให้ความร่วมมือในการรายงานการทุจริตคอร์รัปชั่นตามที่บริษัทฯ กําหนดไว้
  4. ผู้ที่กระทําการคอร์รัปชั่นเป็นการกระทําผิดต่อนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของบริษัทฯ ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาทางวินัยตามระเบียบที่บริษัทฯ กําหนดไว้ นอกจากนี้อาจจะได้รับโทษตามกฎหมาย หากการกระทํานั้นผิดกฎหมาย
  5. บริษัทฯ ตระหนักถึงความสําคัญในการเผยแพร่ ให้ความรู้ และทําความเข้าใจกับบุคคลอื่นที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ หรืออาจเกิดผลกระทบต่อบริษัทฯ ในเรื่องที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นนี้
  6. บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะสร้างและรักษาวัฒนธรรมองค์กรที่ยึดมั่นว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ทั้งการทําธุรกรรมกับภาครัฐและภาคเอกชน

แนวทางในการติดตามประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น

บริษัทฯ กําหนดให้มีแนวทางในการติดตามประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ดังนี้

  1. กําหนดให้มีฝ่ายตรวจสอบภายใน ทําหน้าที่ตรวจสอบระบบการควบคุมภายใน การบริหารความเสี่ยง การ กํากับดูแลกิจการ และให้ความเห็นและข้อเสนอแนะอย่างต่อเนื่อง โดยดําเนินการตรวจสอบตามแผนการตรวจสอบประจําปี ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจสอบ และรายงานผลการตรวจสอบที่มีนัยสําคัญและข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการตรวจสอบ ทั้งนี้ ฝ่ายตรวจสอบภายใน ยังมีหน้าที่รับผิดชอบในการทดสอบและประเมินความเสี่ยงจากการทุจริตและคอร์รัปชั่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การนํามาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิผล ตลอดจนติดตาม ทบทวนและปรับปรุงมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างสม่ำเสมอ โดยนําเสนอผลการประเมินความเสี่ยงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ และรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทตามลําดับ อย่างทันเวลาและสม่ำเสมอ
  2. กําหนดให้ผู้บริหารและพนักงานประเมินผลการปฏิบัติงานตนเองเป็นประจําทุกปี เกี่ยวกับการปฏิบัติตามคู่มือการกํากับดูแลกิจการที่ดี จริยธรรมธุรกิจและจรรยาบรรณของบริษัทที่กําหนดขึ้น ซึ่งรวมถึงนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น แนวทางปฏิบัติในการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่น และจรรยาบรรณ/ข้อพึงปฏิบัติของพนักงาน
  3. หากการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้วพบว่า ข้อมูลจากการตรวจสอบ หรือข้อร้องเรียน มีหลักฐานที่มีเหตุอันควรให้เชื่อว่ามีรายการ หรือการกระทําซึ่งอาจมีผลกระทบอย่างมีนัยสําคัญต่อฐานะการเงิน และผลการดําเนินงานของบริษัทฯ รวมถึงการฝ่าฝืน การกระทําผิดกฎหมาย หรือจริยธรรมธุรกิจและจรรยาบรรณของบริษัท หรือแนวทางปฏิบัติในการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่น หรือข้อสงสัยในรายงานทางการเงิน หรือระบบการควบคุมภายใน คณะกรรมการตรวจสอบจะรายงานต่อคณะกรรมการบริษัท เพื่อดําเนินการปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการตรวจสอบเห็นสมควร
หมวดที่ 4 การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส

คณะกรรมการบริษัทให้ความสําคัญกับการเปิดเผยสารสนเทศที่เป็นข้อมูลสําคัญของบริษัท รวมถึงรายงานทางการเงิน ข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงินและสารสนเทศเรื่องอื่นๆตามเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กําหนดอย่างถูกต้อง ชัดเจน ครบถ้วน โปร่งใสรวดเร็วและเท่าเทียมกัน รวมทั้งรายงานนโยบายและโครงสร้างการกํากับดูแลกิจการไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจําปี (แบบ 56-1) รายงานประจําปี (แบบ56-2) และในเว็บไซต์ www.agecoal.com ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษภายใน 120 วัน นับตั้งแต่สิ้นสุดรอบปีบัญชี รวมถึงบริษัทมีการเปิดเผยรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถติดตามรายละเอียดต่างๆ ในการประชุมได้ หากมีข้อสงสัยเพื่อซักถามสามารถติดต่อได้ที่แผนกผู้ลงทุนสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร เบอร์โทรศัพท์ 02-894-0088 ต่อ 704 และอีเมล :ir@agecoal.com เพื่อให้ผู้ถือหุ้นและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับสารสนเทศอย่างเท่าเทียมกัน

คณะกรรมการบริษัทได้จัดให้มีการดำรงรักษาไว้ซึ่งระบบควบคุมภายในที่มีประสิทธิผลทำให้มั่นใจได้ว่าการบันทึกข้อมูลทางบัญชีมีความถูกต้อง ครบถ้วนและเพียงพอที่จะดำรงรักษาไว้ซึ่งทรัพย์สินเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตหรือการดำเนินการที่ผิดปกติอย่างมีสาระสำคัญ

คณะกรรมการบริษัทได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งประกอบด้วย กรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร และเป็นอิสระอย่างเพียงพอเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับคุณภาพของรายงานทางการเงินและระบบควบคุมภายใน รวมถึงการบริหารความเสี่ยง

นอกจากนี้ บริษัทมีมาตรการป้องกันการใช้ประโยชน์จากข้อมูลภายในโดยกําหนดให้พนักงานทุกระดับของบริษัทต้องไม่นําข้อมูลที่เป็นความลับไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือบุคคลอื่นและรักษาข้อมูลภายในและเอกสารที่ไม่สามารถเปิดเผยต่อบุคคลภายนอก อันนําไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองหรือครอบครัว หรือพวกพ้องในทางมิชอบ เช่น ข้อมูลที่มีผลกระทบต่อราคาหุ้น ความลับทางการค้า หรือสูตรการประดิษฐ์คิดค้นต่างๆ เป็นต้น พนักงานที่เปิดเผยข้อมูลและข่าวสารที่สําคัญของบริษัทออกสู่บุคคลภายนอก โดยมิได้รับความเห็นชอบจากกรรมการผู้จัดการจะถูกพิจารณาบทลงโทษทางวินัยตามระเบียบของบริษัทและอาจถูกดําเนินคดีตามกฎหมาย

การจัดทำรายงานทางการเงิน

คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้รับผิดชอบต่อการดำเนินธุรกิจที่สำคัญและการกำกับดูแลกิจการ งบการเงินของบริษัท และสารสนเทศทางการเงินที่ปรากฏต่อสาธารณชนในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (56-1) และรายงานประจำปี โดยการจัดทำงบการเงินดังกล่าว จะเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป โดยเลือกนโยบายบัญชีที่เหมาะสมและถือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ และใช้ดุลยพินิจอย่างระมัดระวัง และประมาณการที่ดีที่สุดในการจัดทำ รวมทั้ง มีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญอย่างเพียงพอในหมายเหตุประกอบงบการเงิน ทั้งนี้ คณะกรรมการยังจัดทำรายงานความรับผิดชอบของคณะกรรมการต่อรายงานทางการเงินแสดงควบคู่กับรายงานของผู้สอบบัญชีปรากฎในรายงานประจำปีด้วย

ในการนี้ คณะกรรมการได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งประกอบด้วยกรรมการที่เป็นอิสระและไม่เป็นผู้บริหาร เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับคุณภาพของรายงานทางการเงิน และระบบควบคุมภายใน และความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ ปรากฏในรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งแสดงไว้ในรายงานประจำปี

หมวดที่ 5 ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ

คณะกรรมการบริษัทประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์จากหลากหลายอาชีพทั้งในด้านวิศวกรรม การบริหารจัดการ และประสบการณ์ด้านอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของบริษัท และมีความเป็นอิสระในการตัดสินใจเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทและผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทมีส่วนร่วมในการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ จริยธรรม เป้าหมาย นโยบาย แผนธุรกิจ กลยุทธ์ระยะยาว และงบประมาณประจําปีของบริษัท โดยมอบหมายให้ฝ่ายบริหารเป็นผู้นําเสนอ และคณะกรรมการบริษัทแสดงความคิดเห็นและอภิปรายร่วมกับฝ่ายบริหาร เพื่อให้เกิดความเห็นชอบร่วมกัน รวมถึงกำกับดูแลให้ฝ่ายบริหารดำเนินการให้เป็นไปตามแผนธุรกิจและงบประมาณที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ ดูแลให้มีกระบวนการประเมินความเพียงพอของระบบการควบคุมภายใน การรายงานทางการเงิน และการติดตามผลการดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ

โครงสร้างคณะกรรมการ

คณะกรรมการบริษัทประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถที่หลากหลาย มีประสบการณ์ ความรู้ ความเชี่ยวชาญที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจ ยึดมั่นในคุณธรรม และความซื่อสัตย์ โดยไม่จำกัดเพศ เชื้อชาติ ศาสนา อายุ ทักษะทางวิชาชีพ หรือคุณสมบัติเฉพาะด้านอื่นๆ โดยประกอบด้วยกรรมการที่เป็นผู้บริหาร กรรมการที่ไม่ได้เป็นผู้บริหารและไม่ได้เป็นกรรมการอิสระ กรรมการที่ไม่ได้เป็นผู้บริหารและมีคุณสมบัติเป็นกรรมการอิสระเกินกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งคณะ และต้องมีกรรมการที่ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารอย่างน้อย 1 คนที่มีประสบการณ์ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมหลักที่บริษัทดำเนินกิจการอยู่

การประชุมคณะกรรมการบริษัท

การประชุมคณะกรรมการเป็นไปตามข้อบังคับ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบริษัทมหาชนจำกัด และกฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ฯ และมีการจัดประชุมพิเศษเพิ่มตามความจำเป็น โดยสำนักเลขานุการได้กำหนดตารางการประชุมคณะกรรมการล่วงหน้าทุกปี อย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง และได้แจ้งให้กรรมการทุกท่านรับทราบตารางการประชุมดังกล่าว นอกจากนี้ก่อนการประชุมคณะกรรมการทุกครั้ง สำนักเลขานุการจะนำส่งหนังสือนัดประชุมพร้อมระเบียบวาระการประชุมและเอกสารการประชุมให้แก่คณะกรรมการล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนการประชุม เพื่อให้คณะกรรมการได้มีเวลาศึกษาข้อมูลอย่างเพียงพอก่อนเข้าร่วมประชุม

คณะกรรมการได้กำหนดให้การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง (1/2) ของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงครบเป็นองค์ประชุมที่คณะกรรมการสามารถลงมติได้ และกรรมการทุกคนต้องมีสัดส่วนของการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการอย่างน้อยร้อยละ 75 ของการประชุมทั้งปี ทั้งนี้ บริษัทมีการบันทึกการประชุมอย่างถูกต้องและครบถ้วนเพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถตรวจสอบได้

คณะกรรมการบริษัทกําหนดให้กรรมการที่ไม่ใช่ผู้บริหารมีการประชุมกันเองได้ตามความเหมาะสม โดยไม่มีกรรมการที่เป็นผู้บริหารหรือฝ่ายบริหารเข้าร่วมประชุม เพื่อให้มีโอกาสอภิปรายประเด็นหรือแสดงข้อคิดเห็นต่างๆ เกี่ยวกับธุรกิจของบริษัท และการบริหารจัดการในเรื่องที่สนใจอย่างอิสระ โดยให้รายงานผลการประชุมให้ประธานกรรมการและคณะกรรมการบริษัทได้รับทราบ เพื่อให้ฝ่ายบริหารไปดำเนินการเกี่ยวกับประเด็นอภิปรายดังกล่าว

ค่าตอบแทนกรรมการและผู้บริหาร

บริษัทฯ ได้กำหนดนโยบายค่าตอบแทนกรรมการไว้อย่างชัดเจนและโปร่งใสและขออนุมัติจากที่ประชุมสามัญ ซึ่งหลักเกณฑ์การกำหนดค่าตอบแทนของกรรมการมีการพิจารณาจากความเหมาะสมกับขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของกรรมการแต่ละท่าน ค่าตอบแทนอยู่ในอัตราเดียวกับอุตสาหกรรมและอยู่ในระดับที่สามารถจูงใจเพื่อรักษากรรมการที่มีความรู้ความสามารถ และมีคุณสมบัติเหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่

รายงานของคณะกรรมการ

คณะกรรมการเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการให้มีการจัดทำรายงานทางการเงิน ซึ่งรวมถึงงบการเงินของบริษัท งบการเงินรวมของบริษัทและบริษัทย่อย และสารสนเทศทางการเงินที่ปรากฎในรายงานประจำปี ทั้งนี้ รายงานทางการเงินดังกล่าวจัดทำขึ้นตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไปในประเทศไทย โดยเลือกใช้นโยบายบัญชีที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับและถือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งได้ใช้ดุลยพินิจอย่างระมัดระวังในการจัดทำและดูแลให้มีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญอย่างเพียงพอในหมายเหตุประกอบงบการเงิน

การประเมินผลการปฏิบัติงานตนเองของกรรมการ

คณะกรรมการได้จัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานตนเองของกรรมการเป็นประจำทุกปี โดยจัดให้มีการประเมินเป็น 3 รูปแบบ คือ 1) ทั้งคณะ 2) คณะกรรมการชุดย่อยรายคณะ และ 3) รายบุคคล เพื่อให้คณะกรรมการได้พิจารณาทบทวนผลงาน ปัญหาและอุปสรรค ในการดำเนินงานระหว่างปีที่ผ่านมา เพื่อให้นำมาแก้ไขและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ได้ใช้แนวทางแบบประเมินที่เสนอแนะโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และนำมาปรับปรุงเพื่อให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท ดังนี้

การประเมินทั้งคณะ มีหัวข้อดังนี้

  1. โครงสร้างและคุณสมบัติของคณะกรรมการ
  2. บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ
  3. การประชุมคณะกรรมการ
  4. การทำหน้าที่ของกรรมการ
  5. ความสัมพันธ์กับฝ่ายจัดการ
  6. การพัฒนาตนเองของกรรมการและการพัฒนาผู้บริหาร

การประเมินคณะกรรมการชุดย่อยรายคณะ และรายบุคคล มีหัวข้อดังนี้

  1. โครงสร้างและคุณสมบัติของคณะกรรมการ
  2. การประชุมคณะกรรมการ
  3. บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ

การรวมหรือแยกตําแหน่ง

คณะกรรมการบริษัทกําหนดให้ประธานกรรมการเป็นบุคคลคนละคนกับกรรมการผู้จัดการและประธานกรรมการบริหารเพื่อสร้างดุลยภาพระหว่างการบริหารและการกํากับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งประธานกรรมการคนปัจจุบันเป็นกรรมการอิสระ

การพัฒนากรรมการและผู้บริหาร

1. การพัฒนาความรู้
บริษัทฯ สนับสนุนให้คณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารเข้าร่วมสัมมนาหลักสูตรที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ โดยหลักสูตรที่กรรมการบริษัทควรเข้าร่วมสัมมนาอย่างน้อยจะเป็นหลักสูตรของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ซึ่งได้แก่ หลักสูตร Directors Certification Program (DCP) หรือ Directors Accreditation Program (DAP) หรือหลักสูตร Audit Committee Program (ACP) หรือ จากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยคณะกรรมการบริษัทได้มอบหมายให้เลขานุการบริษัทเป็นผู้ประสานงานกับกรรมการเพื่อแจ้งหลักสูตรการฝึกอบรมต่างๆ เพื่อนำความรู้และประสบการณ์มาพัฒนาบริษัทอย่างต่อเนื่อง
2. การปฐมนิเทศกรรมการใหม่
คณะกรรมการบริษัทกําหนดให้มีการปฐมนิเทศกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ โดยมอบหมายให้เลขานุการบริษัทเป็นผู้ดำเนินการจัดเตรียมข้อมูลบริษัท ภาพรวมธุรกิจ โครงสร้างการถือหุ้น โครงสร้างองค์กร คู่มือกรรมการและกำหนดการประชุม เพื่อให้กรรมการใหม่รับทราบถึงบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบของกรรมการ นโยบายและแนวปฏิบัติในการกํากับดูแลกิจการของบริษัท ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจในธุรกิจและการดําเนินงาน การบริหารความเสี่ยง และเพื่อชี้แจ้งตอบข้อซักถาม รวมถึงการเยี่ยมชมหน่วยปฏิบัติการด้านต่างๆ ของบริษัท เพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ

นโยบายการไปดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทอื่นของกรรมการ กรรมการผู้จัดการ และผู้บริหารระดับสูง

เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและข้อแนะนำของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการบริษัทจึงได้กำหนดนโยบายการจำกัดจำนวนการไปดำรงตำแหน่งในบริษัทอื่นที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของกรรมการได้จำนวนไม่เกิน 5 แห่ง ทั้งนี้ ปัจจุบันกรรมการบริษัททั้ง 9 ท่าน ดำรงตำแหน่งในบริษัทอื่นที่เป็นบริษัทจดทะเบียนไม่เกิน 5 แห่ง

นอกจากนั้น คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดให้กรรมการผู้จัดการและผู้บริหารระดับสูงสามารถรับตำแหน่งกรรมการที่บริษัทอื่นได้ตามความจำเป็น และไม่ทำให้มีผลกระทบต่อหน้าที่และความรับผิดชอบของบริษัท โดยต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทหรือผู้มีอำนาจอนุมัติก่อน

การจัดทำแผนสืบทอดตำแหน่ง

เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทฯ จะมีความต่อเนื่องในการบริหารงาน อีกทั้ง คณะกรรมการบริษัทได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นและความสำคัญของการสืบทอดตำแหน่งงานของผู้บริหารระดับสูง และตำแหน่งที่พิจารณาว่าเป็น Critical Position โดยพิจารณาจากเกณฑ์อายุที่ใกล้ครบเกณฑ์เกษียณ (60 ปี) ความยากของการหาทดแทนในตลาดแรงงาน หรือมีแนวโน้มเป็นที่ต้องการของตลาดจึงกำหนดให้มีการจัดทำแผนสืบทอดตำแหน่งงาน สำหรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ รองกรรมการผู้จัดการ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และผู้อำนวยการฝ่าย เพื่อสรรหาบุคคลที่เหมาะสมสำหรับตำแหน่งทั้งความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ วิสัยทัศน์ ความเป็นผู้นำ ความซื่อสัตย์ และคุณสมบัติตามที่กำหนดในการดำรงตำแหน่งงานหลัก (Key Jobs) รวมถึงให้มีการทบทวนอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เป็นไปตามสถานการณ์ปัจจุบัน

ในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง บริษัทได้จัดทำแผนสืบทอดตำแหน่งรองรับผู้บริหารตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการฝ่ายขึ้นไป โดยได้ระบุตัวบุคคลที่จะทำหน้าที่แทน ในกรณีที่ยังไม่มีตัวบุคคลที่สามารถรับได้ทันที ได้จัดให้มีระบบพัฒนาบุคลากรในลำดับรองลงมาเพื่อเตรียมความพร้อม รวมทั้งสรรหาจากภายนอก ทั้งนี้ เพื่อรักษาความเชื่อมั่นให้นักลงทุน องค์กร ตลอดจนพนักงานว่าในการดำเนินงานของบริษัทจะได้รับการสานต่ออย่างทันท่วงที

การรายงานการมีส่วนได้เสีย

คณะกรรมการได้กำหนดแนวปฏิบัติเรื่องการรายงานการมีส่วนได้ส่วนเสียของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท เพื่อความโปร่งใสและป้องกันปัญหาที่อาจจะก่อให้เกิดการขัดแย้งทางผลประโยชน์ ดังนี้

  1. กรรมการหรือผู้บริหาร รวมถึง บุคคลในครอบครัวที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท จะต้องจัดทำและจัดส่งรายงานการมีส่วนได้เสียให้กับบริษัท โดยที่กรรมการและผู้บริหารแต่ละท่านจะต้องจัดทำรายงานการมีส่วนได้เสียนับตั้งแต่วันที่เข้าดำรงตำแหน่ง
  2. คณะกรรมการกำหนดให้มีการทบทวนรายงานการมีส่วนได้เสียดังกล่าวเป็นประจำทุกเดือนสิงหาคมของทุกปี หรือภายใน 7 วัน หลังจากทราบว่ามีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล
  3. กรรมการหรือผู้บริหารมีหน้าที่จัดทำและรายงานการถือครองหลักทรัพย์ของบริษัท เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการถือครองหลักทรัพย์ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ภายใน 3 วัน นับจากวันที่มีการเปลี่ยนแปลง
  4. คณะกรรมการมอบหมายให้เลขานุการบริษัทเป็นผู้จัดเก็บรายงานการมีส่วนได้เสีย

คณะกรรมการชุดย่อย

คณะกรรมการตรวจสอบ

คณะกรรมการตรวจสอบประกอบด้วยกรรมการอิสระ 3 คน มีหน้าที่รับผิดชอบการสอบทานรายงานทางการเงินของบริษัทสอบทานความเพียงพอของระบบการควบคุมภายในและระบบการบริหารความเสี่ยง สอบทานการปฏิบัติตามข้อกำหนด กฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง พิจารณาคัดเลือกและกำหนดค่าตอบแทนผู้สอบบัญชีของบริษัท สอบทานรายการที่เกี่ยวโยงกันหรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ให้มีความถูกต้อง ครบถ้วน และโปร่งใส กำกับดูแล พิจารณาแผนงาน ผลการปฏิบัติงาน งบประมาณและอัตรากำลังของสำนักงานตรวจสอบภายใน ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบได้เป็นไปตามวาระที่กำหนด มีการประสานงานและติดตามการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการตรวจสอบและบันทึกไว้ในรายงานการประชุม

ทั้งนี้ บริษัทกำหนดให้คณะกรรมการตรวจสอบ อย่างน้อย 1 คน ต้องมีประสบการณ์ในด้านบัญชีหรือการเงิน

ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบ (Audit Committee)

  1. สอบทานให้บริษัทมีรายงานทางการเงินอย่างถูกต้องและเพียงพอ
  2. สอบทานให้บริษัทมีระบบการควบคุมภายใน (Internal Control) และการตรวจสอบภายใน (Internal Audit) ที่เหมาะสมและมีประสิทธิผล
  3. สอบทานให้บริษัทปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท
  4. พิจารณา คัดเลือก เสนอแต่งตั้ง โยกย้าย และเสนอค่าตอบแทนผู้สอบบัญชีของบริษัทและหัวหน้าหน่วยงานตรวจสอบภายใน หรือหน่วยงานอื่นใดที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการตรวจสอบภายใน
  5. พิจารณาการเปิดเผยข้อมูลของบริษัท ในกรณีที่เกิดรายการที่เกี่ยวโยงกัน หรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ให้มีความถูกต้องครบถ้วน
  6. จัดทำรายงานการกำกับดูแลกิจการของคณะกรรมการตรวจสอบโดยเปิดเผยไว้ในรายงานประจำปีของบริษัท ซึ่งรายงานดังกล่าวต้องลงนามโดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบ
  7. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการของบริษัทมอบหมายด้วยความเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจสอบ

วาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการตรวจสอบ

คณะกรรมการตรวจสอบมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 3 ปี กรรมการตรวจสอบซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามข้อบังคับของบริษัทอาจแต่งตั้งให้กลับมาใหม่ได้ ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการตรวจสอบว่างลงเพราะเหตุอื่นใด นอกจากถึงคราวออกตามวาระให้คณะกรรมการบริษัทแต่งตั้งบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเป็นกรรมการตรวจสอบ เพื่อให้กรรมการตรวจสอบมีจำนวนครบตามที่คณะกรรมการบริษัทกำหนด โดยบุคคลที่เข้าเป็นกรรมการตรวจสอบแทนอยู่ในตำแหน่งได้เพียงวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการตรวจสอบซึ่งตนทดแทน

คณะกรรมการบริหาร

คณะกรรมการบริหารประกอบด้วยกรรมการ 3 คน มีหน้าที่รับผิดชอบกำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทภายใต้ขอบเขตวัตถุประสงค์ และ/หรือ แนวนโยบายของบริษัทมีอำนาจสั่งการ วางแผน และดำเนินกิจการของบริษัท ให้เป็นไปตามนโยบายที่คณะกรรมการของบริษัทกำหนดเสนอแผนการลงทุน และหรือการระดมทุนของบริษัท เพื่อให้คณะกรรมการบริษัท และ/หรือที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติแล้วแต่กรณีมีอำนาจพิจารณากำหนดสวัสดิการให้แก่พนักงานตามความเหมาะสมกับสภาพการณ์ประเพณี และกฎหมายที่ใช้บังคับอนุมัติการแต่งตั้งที่ปรึกษาด้านต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินงานของบริษัทภายในวงเงินที่คณะกรรมการได้มอบอำนาจไว้ คณะกรรมการบริหารมีอำนาจอนุมัติการซื้อ การจัดจ้าง การเช่า การเช่าซื้อ ทรัพย์สินใดๆ ตลอดจนมีอำนาจลงทุน และดำเนินการชำระค่าใช้จ่ายใดๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินงานของบริษัท โดยมีรายละเอียดตามผังอำนาจอนุมัติที่คณะกรรมการบริษัทกำหนดภายในวงเงินที่คณะกรรมการได้มอบอำนาจไว้ คณะกรรมการบริหารมีอำนาจอนุมัติการกู้ยืมเงิน เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร นิติบุคคลหรือสถาบันการเงินอื่นใด เพื่อประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยมีรายละเอียดตามผังอำนาจอนุมัติที่คณะกรรมการบริษัทกำหนด และมีอำนาจในการอนุมัติการซื้อทรัพย์สิน หรือการชำระราคาใดๆ อันสืบเนื่องมาจากการดำเนินงานของบริษัทตามสัญญา และ/หรือข้อตกลงกับคู่ค้า โดยมีรายละเอียดตามผังอำนาจอนุมัติที่คณะกรรมการบริษัทกำหนด

ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร

  1. มีอำนาจสั่งการ วางแผน และดำเนินกิจการของบริษัท ให้เป็นไปตามนโยบายที่คณะกรรมการของบริษัทกำหนด
  2. กำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทภายใต้ขอบเขตวัตถุประสงค์ และ/หรือแนวนโยบายของบริษัท
  3. เสนอแผนการลงทุน และ/หรือการระดมทุนของบริษัท เพื่อให้คณะกรรมการบริษัท และ/หรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติ แล้วแต่กรณี
  4. อนุมัติการแต่งตั้งที่ปรึกษาด้านต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินงานของบริษัทภายในวงเงินที่คณะกรรมการได้มอบอำนาจไว้
  5. มีอำนาจพิจารณากำหนดสวัสดิการให้แก่พนักงานตามความเหมาะสมกับสภาพการณ์ประเพณี และกฎหมายที่ใช้บังคับ
  6. มีอำนาจอนุมัติการซื้อ การจัดจ้าง การเช่า การเช่าซื้อ ทรัพย์สินใดๆ ตลอดจนมีอำนาจลงทุน และดำเนินการชำระค่าใช้จ่ายใดๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินงานของบริษัท โดยมีรายละเอียดตามผังอำนาจอนุมัติที่คณะกรรมการบริษัทกำหนดภายในวงเงินที่คณะกรรมการได้มอบอำนาจไว้
  7. มีอำนาจอนุมัติการกู้ยืมเงิน เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร นิติบุคคลหรือสถาบันการเงินอื่นใด เพื่อประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยมีรายละเอียดตามผังอำนาจอนุมัติที่คณะกรรมการบริษัทกำหนด
  8. มีอำนาจในการอนุมัติการซื้อทรัพย์สิน หรือการชำระราคาใดๆ อันสืบเนื่องมาจากการดำเนินงานของบริษัทตามสัญญา และ/หรือ ข้อตกลงกับคู่ค้า โดยมีรายละเอียดตามผังอำนาจอนุมัติที่คณะกรรมการบริษัทกำหนด

ทั้งนี้ การมอบหมายอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบให้คณะกรรมการบริหารดังกล่าวข้างต้นนั้น จะไม่รวมถึงอำนาจ และ/หรือการมอบอำนาจช่วงในการอนุมัติรายการใดที่ตน หรือผู้รับมอบอำนาจช่วง หรือบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง (ตามที่นิยามไว้ในประกาศ และ/หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง) มีส่วนได้เสียหรือผลประโยชน์ในลักษณะอื่นใดขัดแย้งกับบริษัทหรือบริษัทย่อยของบริษัท ซึ่งการอนุมัติรายการในลักษณะดังกล่าวจะต้องเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ และหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้น (แล้วแต่กรณี) เพื่อพิจารณาอนุมัติรายการดังกล่าว ตามที่ข้อบังคับของบริษัทหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนด

การสรรหาและแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหารระดับสูงสุด

กรรมการอิสระ

บริษัทฯ ได้กำหนดนิยามกรรมการอิสระเทียบเท่ากับข้อกำหนดขั้นต่ำของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามประกาศคณะกรรมการกํากับตลาดทุนที่ ทจ.4/2552 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 เรื่องคุณสมบัติของกรรมการอิสระ กล่าวคือ

กรรมการอิสระ หมายถึง กรรมการจากภายนอกที่มีความเป็นอิสระในการแสดงความคิดเห็น ทำหน้าที่คุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกันและสามารถช่วยดูแลไม่ให้เกิดรายการที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างบริษัทกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกัน โดยมีคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่ง ดังนี้

  1. ถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 1 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัท บริษัทย่อย ผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัท ทั้งนี้ให้นับรวมการถือหุ้นของผู้ที่เกี่ยวข้องของกรรมการอิสระรายนั้นๆ ด้วย
  2. ไม่เป็นหรือเคยเป็นกรรมการที่มีส่วนร่วมในการบริหารงาน ลูกจ้าง พนักงาน ที่ปรึกษาที่ได้เงินเดือนประจำ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัท บริษัทย่อย ผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือของผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทเว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี
  3. ไม่เป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตหรือโดยการจดทะเบียนตามกฎหมายในลักษณะที่เป็นบิดา มารดา คู่สมรส พี่น้อง และบุตรรวมทั้งคู่สมรสของบุตรของกรรมการรายอื่น ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ผู้มีอำนาจควบคุม หรือบุคคลที่จะได้รับการเสนอให้เป็นกรรมการ ผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัท หรือบริษัทย่อย
  4. ไม่มีหรือเคยมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัท บริษัทย่อย ผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทในลักษณะที่อาจเป็นการขัดขวางการใช้วิจารณญาณอย่างอิสระของตนรวมทั้งไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ถือหุ้นที่มีนัยหรือ ผู้มีอำนาจควบคุมของผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริษัท บริษัทย่อย ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุม ของบริษัทเว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี
  5. ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้สอบบัญชีของบริษัท บริษัทย่อย ผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทและไม่เป็นผู้ถือหุ้นที่มีนัย ผู้มีอำนาจควบคุมหรือหุ้นส่วนของสำนักงานสอบบัญชี ซึ่งมีผู้สอบบัญชีของบริษัท บริษัทย่อยผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทสังกัดอยู่เว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี
  6. ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ให้บริการทางวิชาชีพใดๆ ซึ่งรวมถึงการให้บริการเป็นที่ปรึกษากฎหมายหรือที่ปรึกษาทางการเงินซึ่งได้รับค่าบริการเกินกว่า 2 ล้านบาทต่อปีจากบริษัท บริษัทย่อยผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้มีอำนาจควบคุมของบริษัทและไม่เป็นผู้ถือหุ้นที่มีนัย ผู้มีอำนาจควบคุมหรือหุ้นส่วนของผู้ให้บริการทางวิชาชีพนั้นด้วยเว้นแต่จะได้พ้นจากการมีลักษณะดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี
  7. ไม่เป็นกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของกรรมการของบริษัทผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่
  8. ไม่ประกอบกิจการที่มีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันที่มีนัยกับกิจการของบริษัทหรือบริษัทย่อยหรือไม่เป็นหุ้นส่วนที่มีนัยในห้างหุ้นส่วน หรือเป็นกรรมการที่มีส่วนร่วมบริหารงานลูกจ้าง พนักงานที่ปรึกษาที่รับเงินเดือนประจำ หรือถือหุ้นเกินร้อยละ 1 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทอื่นซึ่งประกอบกิจการที่มีสภาพอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันที่มีนัยกับกิจการของบริษัท หรือบริษัทย่อย
  9. ไม่มีลักษณะอื่นใดที่ทำให้ไม่สามารถให้ความเห็นอย่างเป็นอิสระเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัท

ภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการอิสระที่มีลักษณะเป็นไปตามข้อ 1 ถึง 9 แล้วกรรมการอิสระอาจได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการให้ตัดสินใจในการดำเนินกิจการของบริษัท บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทย่อยลำดับเดียวกัน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือผู้มีอํานาจควบคุมของบริษัท โดยมีการตัดสินใจในรูปแบบขององค์คณะ (Collective Decision) ได้

วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการอิสระ

คณะกรรมการกำหนดให้กรรมการอิสระมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี โดยหมุนเวียนกันออกตามวาระคราวละ 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด เมื่อครบกำหนดตามวาระ กรรมการอาจได้รับการพิจารณาเสนอชื่อต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นพิจารณาเลือกตั้งเป็นกรรมการบริษัทต่อเนื่องได้ และสามารถกลับมาดำรงตำแหน่งได้ ทั้งนี้ การดำรงตำแหน่งดังกล่าวกรรมการอิสระจะสามารถดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 3 วาระ หรือ 9 ปี โดยนับจากวันที่ดำรงตำแหน่งและบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

การสรรหากรรมการและผู้บริหารระดับสูง

บริษัทฯ ไม่มีคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทนโดยเฉพาะ เนื่องด้วยบริษัทมีโครงสร้างองค์กรขนาดเล็กในอนาคตอาจจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน โดยดูจากโครงสร้างองค์กรที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงรายได้ของบริษัท ทั้งนี้ บุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ และผู้บริหารของบริษัท จะต้องมีคุณสมบัติครบตามมาตรา 68 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 และข้อบังคับของบริษัท และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ.28/2551 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ ฉบับลงวันที่ 15 ธันวาคม 2551

การสรรหาบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการที่ครบกำหนดออกตามวาระ หรือในกรณีอื่นๆ เสนอต่อคณะกรรมการบริษัท เพื่อพิจารณาบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการเลือกตั้งและเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น และเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป ซึ่งบริษัทมีกระบวนการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิจากความเชี่ยวชาญ วิสัยทัศน์ ภาวะผู้นำ เป็นผู้มีคุณธรรม มีประวัติการทำงานที่โปร่งใส และสามารถแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นอิสระ โดยการคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการต้องสอดคล้องกับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัท ซึ่งบริษัทได้จัดทำตาราง Board Skill Matrix เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาสรรหากรรมการ โดยพิจารณาจากความรู้ ความชำนาญที่จำเป็นที่ยังขาดอยู่ในคณะกรรมการ ทั้งนี้ คณะกรรมการจะพิจารณาบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิที่จะมาดำรงตำแหน่งกรรมการ จากการเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการเลือกตั้งเป็นกรรมการโดยผู้ถือหุ้น การสรรหาโดยที่ปรึกษาภายนอก (Professional Search Firm) การสรรหาจากฐานข้อมูลกรรมการ (Director Pool) หรือการสรรหาโดยกระบวนการอื่นๆ ที่คณะกรรมการเห็นสมควรและเหมาะสม

ในการสรรหาและแต่งตั้งกรรมการของบริษัท คณะกรรมการกำหนดโครงสร้างของคณะกรรมการให้ประกอบด้วยกรรมการที่มีคุณสมบัติหลากหลาย ทั้งในด้านทักษะ ประสบการณ์ ความสามารถเฉพาะด้านที่เป็นประโยชน์กับบริษัท เพศ และต้องมีกรรมการที่ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารอย่างน้อย 1 คนที่มีประสบการณ์ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมหลักที่บริษัทดำเนินกิจการอยู่ ทั้งนี้ องค์ประกอบและการสรรหา แต่งตั้ง ถอดถอน หรือพ้นจากตำแหน่งกรรมการของบริษัทนั้น ได้กำหนดไว้ในข้อบังคับของบริษัทซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

  1. คณะกรรมการบริษัท ประกอบด้วยกรรมการจำนวนไม่น้อยกว่า 5 คนแต่ไม่เกิน 15 คน เลือกตั้งโดยที่ประชุมผู้ถือหุ้น โดยมีกรรมการที่เป็นกรรมการตรวจสอบไม่น้อยกว่า 3 คน ทั้งนี้ กรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดต้องมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย
  2. ให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นเลือกตั้งกรรมการ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้
    • ผู้ถือหุ้นรายหนึ่งมีคะแนนเสียงเท่ากับ 1 หุ้นต่อ1 เสียง
    • ผู้ถือหุ้นแต่ละรายจะใช้คะแนนเสียงที่มีอยู่ทั้งหมดตาม1) ) เลือกตั้งบุคคลคนเดียวหรือหลายคนเป็นกรรมการก็ได้ กรณีเลือกบุคคลหลายคนเป็นกรรมการจะแบ่งคะแนนเสียงให้แก่ผู้ใดมากน้อยเพียงใดไม่ได้
    • บุคคลที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดตามลำดับลงมาเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการเท่าจำนวนกรรมการที่จะพึงมี หรือจะพึงเลือกตั้งในครั้งนั้น ในกรณีที่บุคคลซึ่งได้รับการเลือกตั้งในลำดับถัดลงมามีคะแนนเสียงเท่ากัน เกินจำนวนกรรมการที่จะพึงมีหรือจะพึงเลือกตั้งในครั้งนั้นให้ประธานที่ประชุมเป็นผู้ออกเสียงชี้ขาด
  3. ในการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปีทุกครั้ง ให้กรรมการออกจากตำแหน่งจำนวนหนึ่งในสาม (1/3) ของจำนวนกรรมการในขณะนั้น ถ้าจำนวนกรรมการจะแบ่งออกให้ตรงเป็นสามส่วนไม่ได้ ก็ให้ออกโดยจำนวนใกล้ที่สุดกับส่วนหนึ่งในสาม กรรมการที่จะต้องออกจากตำแหน่งในปีแรกและปีที่สองภายหลังจดทะเบียนบริษัทนั้นให้จับสลากกัน ส่วนปีหลังๆ ต่อไปให้กรรมการคนที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดนั้นเป็นผู้ออกจากตำแหน่ง กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับเลือกให้กลับเข้ามารับตำแหน่งอีกได้
  4. กรรมการคนใดจะลาออกจากตำแหน่งให้ยื่นใบลาออกต่อบริษัท โดยการลาออกนั้นจะมีผลนับแต่วันที่ใบลาออกไปถึงบริษัท
  5. ในการลงมติให้กรรมการคนใดออกจากตำแหน่งก่อนถึงคราวออกตามวาระให้ถือคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียง และมีหุ้นนับรวมกันได้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นที่ถือโดยผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

องค์ประกอบและการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ

คณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทจะต้องเป็นกรรมการบริษัทซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการบริษัท และมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด รวมถึงประกาศ ข้อบังคับ และ/หรือระเบียบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน ทั้งนี้ กรรมการตรวจสอบอย่างน้อย 1 คน ต้องเป็นผู้มีความรู้ด้านการบัญชีและการเงิน

องค์ประกอบและการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร

คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้เสนอการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร โดยแต่งตั้งจากกรรมการบริษัท และ/หรือผู้บริหารระดับสูง โดยมีจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน และให้คณะกรรมการบริษัทแต่งตั้งกรรมการบริหารคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการบริหาร

การกำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัทย่อย

บริษัทให้ความสำคัญกับนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีควบคู่กับการดำเนินธุรกิจมาโดยตลอด และได้จัดทำนโยบายบรรษัทภิบาลและคู่มือจริยธรรมธุรกิจขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการกำกับดูแลกิจการของบริษัทและบริษัทย่อย โดยคณะกรรมการได้เผยแพร่นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณทางธุรกิจให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับเข้าใจและถือปฏิบัติตาม โดยบริษัทเชื่อว่าการกำกับกิจการที่ดีจะทำให้บริษัทสามารถบรรลุพันธกิจของบริษัทได้ และหลักการกำกับกิจการที่ดีเป็นการควบคุมดูแลการประกอบกิจการขององค์กรให้มีความรับผิดชอบตามหน้าที่ด้วยความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และสร้างความสามารถในการแข่งขันอย่างมีจริยธรรม นอกจากนี้ การปฏิบัติตามหลักการกำกับกิจการที่ดี ยังเป็นการลดความเสี่ยงและสร้างความสามารถในการแข่งขันระยะยาวให้กับองค์กร โดยมุ่งเน้นการสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น

ทั้งนี้ ในการเสนอชื่อและการใช้สิทธิออกเสียงแต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการในบริษัทย่อยดำเนินการโดยฝ่ายจัดการ ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไป บริษัทกำหนดระเบียบปฏิบัติให้การเสนอชื่อและใช้สิทธิออกเสียงดังกล่าวต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทด้วย โดยบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการในบริษัทย่อย มีหน้าที่ดำเนินการเพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของบริษัทย่อย และบริษัทได้กำหนดให้บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งนั้นต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทก่อนที่จะไปลงมติ หรือใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องสำคัญในระดับเดียวกับที่ต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท หากเป็นการดำเนินการโดยบริษัทเอง ทั้งนี้ การส่งกรรมการเพื่อเป็นตัวแทนในบริษัทย่อยดังกล่าวเป็นไปตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท

นอกจากนี้ ในกรณีเป็นบริษัทย่อย บริษัทกำหนดระเบียบให้บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งจากบริษัทนั้นต้องดูแลให้บริษัทย่อยมีข้อบังคับในเรื่องการทำรายการเกี่ยวโยง การได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สิน หรือการทำรายการสำคัญอื่นใดของบริษัทให้ครบถ้วนถูกต้อง และใช้หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลและการทำรายงานข้างต้นในลักษณะเดียวกับหลักเกณฑ์ของบริษัท รวมถึงต้องกำกับดูแลให้มีการจัดเก็บข้อมูล และการบันทึกบัญชีของบริษัทย่อยให้บริษัทสามารถตรวจสอบ และรวบรวมมาจัดทำงบการเงินรวมได้ทันกำหนด

การดูแลเรื่องการใช้ข้อมูลภายใน

กรรมการต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์และข้อบังคับของบริษัท ตลอดจนมติของที่ประชุม สามัญผู้ถือหุ้น การเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ที่มีสาระสำคัญ และมีผลกระทบต่อบริษัท ต้องเป็นข้อมูลด้านการดำเนินงานให้ผ่านความเห็นชอบจากกรรมการผู้จัดการ แต่ถ้าข้อมูลใดที่มีผลกระทบต่อผู้ลงทุนต้องผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท นโยบายและวิธีการติดตามดูแลในการนำข้อมูลภายในไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนนั้น บริษัทมอบหมายให้คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้ดูแลและพิจารณาตัดสินความผิด ในกรณีที่มีกรรมการ และ/หรือผู้บริหารมีการใช้ข้อมูลภายในเพื่อประโยชน์ส่วนตัว โดยมอบหมายให้กรรมการผู้จัดการเป็นผู้พิจารณาความผิด ตามมาตรการการลงโทษที่เป็นไปตามมติที่ประชุมของคณะกรรมการบริษัท หากพนักงานของบริษัทกระทำความผิดดังกล่าว นอกจากนี้ทางบริษัทได้จัดทำเป็นข้อปฏิบัติว่าคณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารของบริษัท ห้ามทำการซื้อขายหลักทรัพย์ในช่วง 1 เดือน ก่อนที่ข้อมูลงบการเงินหรือข้อมูลอื่นที่มีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ของบริษัทจะเผยแพร่ต่อสาธารณชน และต้องไม่ซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทจนกว่าจะพ้นระยะเวลา 24 ชั่วโมง นับแต่การเปิดเผยข้อมูลนั้นสู่สาธารณะทั้งหมด

นโยบายการควบคุมภายใน

คณะกรรมการให้ความสำคัญต่อระบบการควบคุมภายในที่เพียงพอและเหมาะสมในทุกระดับการปฏิบัติงาน มีระบบการควบคุมภายในที่ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งการสร้างสภาพแวดล้อม การควบคุม การประเมินความเสี่ยง กิจกรรมการควบคุม ข้อมูลและการสื่อสาร และการติดตาม รวมถึงการดำเนินกิจการให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบที่เกี่ยวข้องและจัดให้มีกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการปกป้องรักษาและดูแลเงินลงทุนของผู้ถือหุ้นและสินทรัพย์ของบริษัทอยู่เสมอ

คณะกรรมการบริษัททำหน้าที่ประเมินระบบควบคุมภายในโดยมอบหมายให้คณะกรรมการตรวจสอบประสานงานกับผู้ตรวจสอบภายใน ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกอิสระ โดยบริษัทว่าจ้างหน่วยงานภายนอกเข้ามานำเสนอการประเมินผลความเพียงพอของระบบการควบคุมภายในเบื้องต้น เพื่อให้ความเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อปรับปรุงระบบการควบคุมภายในของบริษัทให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น และรายงานให้คณะกรรมการตรวจสอบทราบทุก 3 เดือน

กระบวนการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติตามการกำกับดูแลกิจการที่ดี

คณะกรรมการได้กำหนดกระบวนการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติตามการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมถึง จริยธรรมและจรรยาบรรณทางธุรกิจของบริษัท ดังนี้

  • การติดตามและประเมินผลโดยบริษัทผู้ตรวจสอบภายในของบริษัท
  • การประเมินตนเองโดยผู้บริหารและพนักงาน

ทั้งนี้ บริษัทได้มีการสื่อสารให้ผู้บริหารและพนักงานในระดับผู้บริหารขึ้นไปกำกับติดตามผู้ใต้บังคับบัญชา และต้องแจ้งหัวหน้างานตามสายบังคับบัญชาทันที หากพบว่ามีการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามแนวนโยบายที่กำหนด รวมทั้งนำนโยบายดังกล่าวมากำหนดเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารและพนักงานประจำปี

ผู้สอบบัญชี

คณะกรรมการตรวจสอบได้พิจารณาคัดเลือกผู้สอบบัญชีตามเกณฑ์การประเมินของบริษัท ได้แก่ ความเป็นอิสระในการปฏิบัติงาน คุณภาพ มาตรฐานการปฏิบัติงาน และผู้สอบบัญชีมีคุณสมบัติถูกต้องตามประกาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ทั้งนี้ ผู้สอบบัญชีของบริษัทมีคุณสมบัติถูกต้องตามประกาศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมถึง ไม่มีความสัมพันธ์หรือส่วนได้เสียกับบริษัท บริษัทย่อย ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าวแต่อย่างใด มีความเป็นอิสระในการตรวจสอบและแสดงความเห็นต่องบการเงินของบริษัท